ไปตามตะวัน...

เข้าร่วม: 27 Feb 2005 ตอบ: 682
|
ตอบเมื่อ: Tue Aug 28, 2007 9:30 am เรื่อง: โลกใบนี้...ดนตรีไทย-ไขปัญหาระนาดเอก |
|
|
โลกใบนี้...ดนตรีไทย-ไขปัญหาระนาดเอก
หลังจากที่งานสุดยอดเสภาสยามได้จบลงในไม่กี่วันผมมีโอกาสนำวงขุนอินออฟเดอะบีทขึ้นเหนือไปเปิดคอนเสิร์ตที่โรงแรมอัมรินทร์ลากูล จ.พิษณุโลก
งานนี้จัดโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีวงแฮมเมอร์มาร่วมแสดงบนเวทีเดียวกับวงของผม โดยวงของผมจะแสดงก่อนและหลังจากแสดงเสร็จ ผมก็มีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยกับ คุณอารีย์ และ คุณอนุชาประธาน สองนักร้องนำวงแฮมเมอร์ในฐานะที่เป็นวงดนตรีที่ผมชื่นชอบมากที่สุดในสมัยเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา
หลังจากนั้นผมจึงไปนั่งชมการแสดงของวงแฮมเมอร์และรอที่จะฟังเพลง "บินหลา" เพลงโปรดของผม ถ้าจะว่าไปแล้ว วงแฮมเมอร์เป็นวงขวัญใจของนักดนตรีไทยเดิมที่รุ่นราวคราวเดียวกับผมหลายๆ คน เนื่องจากเป็นวงดนตรีที่มีลักษณะของเครื่องดนตรีในวงที่แตกต่างจากวงอื่นๆ แถมทำนองเพลงทุกเพลงก็ไพเราะและฟังง่าย จึงไม่แปลกที่หลายๆ คนจะชื่นชอบ แต่ในปัจจุบันนี้วงแฮมเมอร์ก็เปลี่ยนแปลงรูปแบบวงไปบ้าง โดยนำกลองชุด กีตาร์ไฟฟ้า กีตาร์เบส เข้ามาในวง จึงทำให้เพลงที่เคยแสดง เช่น บินหลา ปักษ์ใต้บ้านเรา มีสีสันมากกว่าเดิม
แต่โดยส่วนตัวผมแล้วจะชอบแฮมเมอร์ในรูปแบบเดิมมากกว่าเนื่องจากว่ามือกีตาร์และมือเบสในวงเป็นบุตรชายของคุณอารีย์ ประธาน นักร้องนำ ซึ่งเปรียบเสมือนกับเป็นอุตสาหกรรมครอบครัวอย่างแท้จริง เพราะนักดนตรีคนอื่นๆ ที่อยู่มาตั้งแต่สมัยก่อนก็เป็นพี่น้องกันทั้งวงอยู่แล้ว ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง และคิดว่าคงไม่มีวงดนตรีวงไหนจะมีแต่พี่น้อง ลูกหลาน อยู่ในวงเดียวกัน และก็อยู่มานานได้มากกว่า 20 ปีแบบนี้ แม้แต่วงของผมเองก็เถอะ จะหาพี่น้องหรือลูกหลานที่อยู่ในวงสักคนยังไม่มีเลย สรุปว่าผมชื่นชมหรืออิจฉาวงแฮมเมอร์กันแน่ งงๆ ตัวเองเหมือนกันครับ
ฉบับนี้ตั้งใจจะไขปัญหาดนตรีไทยซึ่งไม่ได้ตอบคำถามของแฟนๆ คอลัมน์ที่เข้ามาทาง www.khun-in.com มานานพอสมควร คำถามแรกเป็นคำถามของนายใจกล้า ซึ่งถามประวัติความเป็นมาของระนาด และอีกท่านหนึ่งก็ใช้นามว่า ใสซื่อ ก็ถามประวัติของระนาดเหมือนกัน ดังนั้นผมจึงขอตอบเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกก่อน ส่วนคำถามอื่นค่อยเอาไว้ฉบับหน้านะครับ
"ระนาดเอก" ตามประวัติบอกว่ามีวิวัฒนาการมาจาก "กรับ" หรือ "ไม้กรับ" (เป็นเครื่องประกอบจังหวะชนิดหนึ่งของวงดนตรีไทย) หลังจากที่เอากรับมาเคาะเป็นจังหวะ นานๆ เข้าก็เริ่มเบื่อ จึงคิดนำเอาไม้กรับมาวางเรียงกันหลายๆ อัน แล้วเคาะเป็นเพลง หลังจากนั้นก็มีวิวัฒนาการขึ้น โดยนำมาเจาะรูแล้วร้อยเชือก แล้วนำไปแขวนไว้บนราง หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาอะไรอีกหลายๆ อย่าง จึงมาเป็นระนาดที่เราเห็นในปัจจุบัน ซึ่งจะมีระนาดทุ้มรวมทั้งระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก เกิดขึ้นตามมาอีก
ส่วนในเรื่องของระนาดเกิดขึ้นในสมัยใดนั้นตามตำราของบรมครูหลายๆ ท่านในสมัยสุโขทัย มิได้มีการกล่าวถึงระนาด จะมีก็แต่ซอสามสาย ตะโพน ฆ้องวง ปี่ แม้แต่ในพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ในเรื่องพระร่วง ได้บรรยายถึงเครื่องดนตรีในสมัยสุโขทัย แต่ก็ไม่มีการกล่าวถึงระนาดเหมือนกัน จึงเท่ากับว่าระนาดไม่มีในสมัยสุโขทัย เพราะฉะนั้นก็คงจะเกิดในสมัยอยุธยานั่นแหละครับ
ตัวผมเองก็ยังสงสัยเหมือนกันว่าฆ้องวงซึ่งเกิดในสมัยสุโขทัยทำด้วยโลหะ แต่ระนาดเอกทำด้วยไม้ ถ้าผมเป็นช่างทำเครื่องดนตรีในสมัยสุโขทัย ผมคงจะเลือกทำเครื่องดนตรีที่ทำด้วยไม้มากกว่าที่จะทำเครื่องดนตรีที่ใช้โลหะ ซึ่งหาได้ยากกว่าไม้ในสมัยนั้น แถมวิธีการประดิษฐ์ระนาดก็ยังใช้มือเหลา ไม่ต้องใช้เครื่องหล่อหรือเบ้าหลอมเหมือนฆ้องวง ยังไงก็แล้วแต่ ในตำราบอกว่าไม่มี ผมเองก็มิอาจจะคัดค้านได้
และถึงแม้ว่าระนาดจะไม่ได้เกิดในสมัยสุโขทัยก็ตามแต่ตอนนี้ระนาดเทวดาการ์ตูนของผมกำลังขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เลยครับ
ขุนอิน
เก็บมาฝากจากหนังสือพิมพ์คม-ชัด-ลึก 28 ส.ค.50
http://www.komchadluek.net/2007/08/28/s001_132848.php?news_id=132848
 _________________ ไปตามตะวัน... |
|